วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อึ้ง! เด็กไทยบริหารเงิน 100 บาทไม่เป็น บอก ‘จะซื้อผู้หญิงให้พ่อ‘


สสค.เปิดผลสำรวจทักษะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 พบเด็กไทยมีทักษะการเรียนรู้ที่ดี แต่ขาดทักษะชีวิตและการทำงานเป็นทีม ส่งผลทักษะการสื่อสารน้อยที่สุด ชี้สิ่งแวดล้อมในห้องเรียน ครูเน้นสอนวิชา ขาดการฝึกกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ส่งผลเด็กชอบฉายเดี่ยว เปิดคำถามเด็กไทย มีเงิน 100 บาทจะซื้ออะไรเป็นของขวัญ พบ 50% ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้ ขณะที่เด็ก 12 สะท้อน "ผมจะซื้อผู้หญิงให้พ่อ"
อึ้ง! เด็กไทยบริหารเงิน 100 บาทไม่เป็น บอก ‘จะซื้อผู้หญิงให้พ่อ‘
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดกิจกรรมในงานวันเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจัดจุดทดสอบทักษะเด็กไทยว่ามีทักษะและความพร้อมหรือไม่สู่เด็กยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญที่ทั่วโลกและประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนให้การยอมรับ พร้อมกับมีความตื่นตัวในการพัฒนาการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กของประเทศตนเองให้มีทักษะดังกล่าวในการปรับตัวและสามารถแข่งขันในตลาดยุคไร้พรมแดน โดยทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะการสื่อสารและเทคโนโลยี
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากผลการวัดทักษะเด็กไทยในยุคศตวรรษที่ 21 ผ่านตัวอย่างฐานกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมีเด็กเข้าร่วมการทดสอบทั้งสิ้น 407 คน พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในระดับที่ดี คะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.5-3.7 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งทักษะด้านการเรียนรู้มีคะแนนสูงสุด ขณะที่ทักษะด้านการสื่อสารมีคะแนนน้อยที่สุด โดยพบว่า เด็กผู้หญิงมีทักษะทั้ง 3 ด้านดีกว่าเด็กผู้ชาย ขณะที่เด็กกลุ่มอายุของเด็กระหว่าง 5-9 ปี และกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-15 ปี สามารถทำคะแนนในทักษะทั้ง3 ด้านไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับเด็กที่มาจากโรงเรียนของรัฐและเอกชนก็มีคะแนนทักษะที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเอกชนจะมีทักษะการเรียนและและนวัตกรรมได้ดีกว่าเด็กที่อยู่โรงเรียนของรัฐ รวมทั้งเด็กที่อยู่ในกทม.จะมีทักษะด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีที่ดีกว่าเด็กที่อยู่นอกเขต กทม.
นางสุนีย์ ชัยสุขสังข์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กรและเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย หนึ่งในคณะทำงานร่วมทดสอบการประเมินทักษะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า เด็กไทยมีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมได้ดี แต่มีปัญหาเรื่องการทำงานเป็นทีม ซึ่งอยู่ในกลุ่มทักษะชีวิตและอาชีพ จึงส่งผลต่อทักษะด้านการสื่อสาร เด็กส่วนใหญ่อยากคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ปฏิเสธการถามความเห็นและทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่ทักษะการทำงานร่วมกันถือเป็นคุณลักษณะที่ตลาดแรงงานและบริษัทชั้นนำของโลกต้องการ โดยพบว่าสิ่งแวดล้องทางการศึกษาเป็นตัวหล่อหลอมให้เด็กเป็นเช่นนี้ที่ต่างคนต่างเรียน ไม่มีกิจกรรมฝึกให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงค่านิยมการแข่งขัน ดังนั้นสิ่งที่เริ่มง่ายที่สุดคือ ครู เพราะโรงเรียนยังเป็นสภาพแวดล้อมที่จัดขึ้นได้และควบคุมได้มากกว่าบ้านที่มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยครูควรกระตุ้นกิจกรรมเป็นกลุ่มให้มากขึ้น รวมถึงการให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเปิดรับทักษะทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น
นายเฉลิมพล สุลักษณาการ นักวิชาการอิสระ หนึ่งในคณะทำงานร่วมทดสอบการประเมินทักษะของเด็กไทยในศตวรรษที่21 กล่าวว่า สิ่งที่พบจากฐานกิจกรรมวัดทักษะในฐานกิจกรรม"ฉลองวันเกิด" โดยให้เด็ก 2 ช่วงวัยคือ 7-9 ปี และ 10-12 ปี ออกแบบว่า หากมีเงิน 100 บาท จะซื้ออะไรเป็นของขวัญวันเกิดให้แม่ พบว่า เด็กส่วนใหญ่ถึง 50% ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้ว่าจะนำเงินไปซื้ออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าจะนำไปซื้อนาฬิกา โทรศัพท์มือถือ แหวนและเครื่องประดับให้แม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมูลค่าของเงินที่มีอยู่ไม่สามารถซื้อได้ เด็กบางคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์จะฉายแววออกมา เช่น จะเอาเงินไปซื้อไม้ไอศกรีม เพื่อทำกล่องดินสอให้แม่ที่มีกล่องเดียวในโลก
อย่างไรก็ตาม เด็กยังสะท้อนภาพความเป็นจริงในครอบครัว มีเด็กชายวัย 12 ปี ตอบว่า "จะนำเงินไปซื้อผู้หญิงให้พ่อ เพราะไม่มีแม่" หรือเด็กบางคนตอบว่า "เอาเก็บไว้กับตัวเอง เพราะเงินหายาก" สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนรู้ของเด็กยังขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พ่อแม่ที่มีฐานะส่วนใหญ่มักเลือกซื้อของตามที่เด็กต้องการ ขาดการฝึกให้เด็กได้ลองบริหารจัดการเรื่องเงินทำให้ไม่สามารถประเมินมูลค่าของที่แท้จริงได้